วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความเชื่อเกี่ยวกับศาลพระภูมิ


พระภูมิ - เจ้าที่  ความเชื่อ ความศรัทธา ความรู้สึก คนไทยมีความเชื่อว่า "พระภูมิ" หรือ "ภูมิเทวดา" มี หน้าที่รักษาอาณาเขตที่ดิน ที่เจ้าของได้อัญเชิญมาสิงสถิตบนศาลพระภูมิ เพื่อปกป้องคุ้มครองเจ้าของบ้านและบริวาร ให้อยู่เย็นเป็นสุขมีความเจริญ รุ่งเรือง ควันธูปเทียนลอยอบอวล เหนือเรือนไม้ทรงไทยหลังเล็กบนเสาเดี่ยว ดูกลางเก่ากลางใหม่ จำลองย่อขนาดจากเรือนไทยจริง รอยแป้งเจิมไว้สามจุด คล้ายอักขระมนต์คาถาที่หน้าบัน ดูเลือนราง ร่องรอยทอง เปลวมีอยู่ทั่วเรือนเล็กหลังนี้ พวงมาลัยใหม่หลายพวง โชยกลิ่นหอมมะลิอ่อน ๆ ในบริเวณใกล้เคียง อีกพวงมาลัยเก่าที่ร่วงโรย ไปตามกาลเวลากลับสู่ธรรมชาติที่มันมา...สู่ดิน พวงมาลัยพลาสติกหลากสี "เจ็ดสีเจ็ดศอก" สะท้อนความเชื่อและความศรัทธา ของผู้มาเซ่นไหว้ เคารพศาลพระภูมิแห่งนี้ ระโยงระยางรอบ ๆ เรือนไม้ แต่งแต้มสีสัน ดูขัดกับเนื้อไม้และพรรณไม้ ที่ขึ้นข้างเคียง ตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์รูปผู้ชายในชุดไทยทั้งสีฟ้า แดง เหลือง นั่งเรียงรายทางหน้าประตูเรือนไทย ใกล้กับตุ๊กตา คู่ละครรำทั้งใหม่เก่าหลายคู่ ที่ยืนกระจัดกระจายอยู่ เมื่อมองเข้าไปภายในเรือนไม้ แผ่นไม้รูปดอกบัวปักบนฐาน ปรากฎภาพวาดเทวดา ในหัตถ์ซ้ายถือถุงเงิน หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ ภาพศาลพระภูมิ ที่เราพบเห็นอยู่ทุกวี่ทุกวัน มีหลายแบบหลากสีสัน ทั้งรูปทรงเรือนไทย ปราสาท มณฑป โบสถ์ วิหาร ปรางค์ ซึ่งจำลองจากสถาปัตยกรรมของจริง ย่อส่วนมาตั้งไว้บนเสาเดี่ยว อาจลดทอนรายละเอียดบางส่วนไปบ้าง แต่ยังคงลัษณะเด่นให้เห็นชัด ศาลพระภูมิบางหลัง อาจมีการตกแต่งในส่วนรายละเอียด มากกว่าสถาปัตยกรรมจริง ไม่ว่าจะเป็นการนำกระจกสีมาประดับ การลงสี การแกะสลักลวดลายบนไม้ หรือลายปูนปั้น เพื่อเพิ่มความแวววาวและสีสันบนตัวศาล
            คนไทยมีความเชื่อว่า "พระภูมิ" หรือ "ภูมิเทวดา" ที่มีหน้าที่รักษาอาณาเขตที่ดิน ที่เจ้าของได้อัญเชิญมาสิงสถิตบนศาลที่ได้ จัดสร้างไว้   ภูมิเทวดาองค์ใดจะอยู่ประจำ ณ ที่แห่งใด  เจ้ากรุงพาลีผู้เป็นใหญ่ในชั้นจตุโลกบาล จะเป็นผู้กำหนดให้  เราอาจสงสัยว่า "พระภูมิ" คือใคร?  มีตำนานเล่าถึงพระภูมิว่า   ในอดีตมีกษัตริย์ พระนามว่า ท้าวทศราช ครองกรุงพาลี มีพระโอรส ๙ พระองค์ ล้วนแต่ปรีชาสามารถ ท้าวทศราชได้ส่งพระโอรสไปรักษาถิ่นต่าง ๆ เป็นต้นว่าเคหะสถาน ทวารเมือง ป้อมค่าย บันได คอกสัตว์ ยุ้งฉางข้าว เรือนหอบ่าวสาว ไร่นา ป่าเขา ปูชนียสถาน ห้วยหนอง คลอง บึง แม่น้ำ ส่วนโอรส หรือพระภูมิเจ้าที่ ที่อยู่ประจำเคหะสถาน มีนามว่า "พระชัยมงคล" พระภูมิ มีคนรับใช้อีก ๓ คน เป็นชาย คือ นายจันทิศ นายจันถี และจ่าสพพระเชิงเรือน คอยรับใช้อยู่หน้าศาล ส่วนทางชาดกในพระพุทธศาสนาได้เล่าเกี่ยวกับพระภูมิว่า ในสมัยครั้งพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงบำเพ็๋ญฌาณอยู่ใต้ต้นไทร ปรากฏว่า พระภูมินามว่า พระเจ้ากรุงพาลีไม่พอใจ ได้แสดงอภินิหารขับไล่พระโพธิสัตว์พระพุทธองค์ทรงทราบ ด้วยญาณถึงเรื่องภายหน้า จึงทรงขอพื้นที่ดินจากพระเจ้ากรุงพาลีเพียง ๓ ก้าว เพื่อบำเพ็ญฌาณต่อไป พระเจ้ากรุงพาลีเห็นว่า เป็นที่ดินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงอนุญาต แต่พระโพธิสัตว์ทรงมีบุญญาอภินิหาร ดังนั้นเมื่อทรงย่างก้าวเพียง ๒ ก้าว ก็พ้นเขตพื้นแผ่นดินของพระเจ้ากรุงพาลี พระเจ้ากรุงพาลีจึงไม่มีที่ดินอยู่ ต้องออกไปอยู่นอกป่าหิมพานต์ ไม่สุขสบาย เช่นที่อาศัยของตน จึงกลับมาทูลขอพื้นที่ดินจากพระโพธิสัตว์ พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งด้วยญาณว่า พระเจ้ากรุงพาลีจะทำหน้าที่เป็นพระภูมิที่ดี คอยคุ้มครองมนุษย์และสัตว์โลกทั่วไปในภายภาคหน้า จึงทรงคืนที่ดินให้กับพระเจ้ากรุงพาลี และทรงขอให้ตั้งมั่นอยู่ในความสุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่นอีกต่อไป ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนาหรือทางพระนั้น พระภูมิเป็น "โอปปาติกะ" คือ เป็นผู้ที่เกิดผุดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ อาศัยอดีตกรรมได้แก่ เทวดา พรหม สัตว์นรก เปรต และอสูรกาย ในพระพุทธศาสนาจึงยอมรับการมีของเทวดา เพราะเทวดาก็เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยเงื่อนไขของธรรมชาติ สำหรับคนไทยในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเร้นลับ และไสยศาสตร์ คงเป็นสิ่งที่ผูกพันในชีวิตเราแทบทุกคน ศาลพระภูมิ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ใกล้ตัว อันแสดงถึงความเชื่อและความศรัทธา ที่คนไทยมีต่อสิ่งนี้ ฉะนั้นในการประกอบพิธีกรรม เกี่ยวกับสิ่งนี้จึงต้องมีการกระทำกันอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล แก่ผู้อยู่อาศัย การเซ่นสังเวยและการตั้งศาลพระภูมิ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาแต่โบราณ โดยจะกระทำเมื่อปลูกบ้านใหม่หรือย้ายที่อยู่ เพราะเชื่อว่าขั้นตอนการตั้งศาลจะเป็นการ ขับไล่สิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้ออกไปจากบ้าน แล้วจึงอัญเชิญพระภูมิ มาสิงสถิตเพื่อปกป้องคุ้มครองเจ้าของบ้านและบริวารให้ อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองมีโชคลาภ และถือว่าพระภูมิเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งของบ้าน
           พิธีการตั้งศาลนั้น โดยทั่วไปเจ้าของบ้านจะปรึกษา ผู้รู้ หรือ พราหมณ์ผู้ประกอบพิธี มาประกอบพิธีให้ เริ่มจากการตรวจดูฤกษ์ยาม ซึ่งเข้ากับวันเดือนปีเกิดของเจ้าของบ้าน เพื่อให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข
ฤกษ์ที่นิยมคือ  
           ภูมิปาโลฤกษ์  หรือฤกษ์ผู้รักษาแผ่นดินเป็นฤกษ์ของพระภูมิโดยเฉพาะ
           เทวีฤกษ์  หรือฤกษ์ของนักธุรกิจ ร้านเสริมสวย
           มหัทธโนฤกษ์  หรือฤกษ์มหาเศรษฐี สำหรับเจ้าบ้านที่เป็นพ่อค้า
           ราชาฤกษ์ หรือฤกษ์ผู้ยิ่งใหญ่สูงส่ง
            ฤกษ์มงคลทั่ว ๆ ไป 
ส่วนฤกษ์ที่ห้ามยกศาลโดยเด็ดขาด คือ.
           ฤกษ์คนจน จะทำให้ตกต่ำไม่เจริญก้าวหน้า
           ฤกษ์โจร จะถูกโจรผู้ร้ายเบียดเบียน
           ฤกษ์นักการเมือง จะถูกโยกย้ายบ่อย อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง
           ฤกษ์พระสงฆ์ ไม่เหมาะกับชาวบ้านให้งดเว้น เพราะถือเป็นฤกษ์ขัดลาภ
ถ้าเป็นวันดีตามโบราณจะเป็นวันที่ตรงกับ ข้างขึ้นหรือข้างแรม  ๒, ๔, ๖, ๙, ๑๑ ค่ำ ส่วนวันเดือนที่ห้ามยกศาลมีวันพฤหัสบดี วันเสาร์  เดือน ๑, ๕, ๙  วันพุธ วันศุกร์ เดือน ๒, ๖, ๑๐ วันอังคาร เดือน ๓, ๗, ๑๑ และวันจันทร์ เดือน ๔, ๘, ๑๒
           เมื่อหาฤกษ์งามยามดีแล้ว จึงหาที่ตั้งศาลตามตำรากล่าวว่าต้องเป็นที่ที่สะอาด เงาบ้านไม่ควรทับศาล และเงาศาลไม่ควรทับบ้านเช่นกัน เพราะจะเป็นการหมิ่นพระภูมิ ถือเป็นอัปมงคล และห้ามหันหน้าเจว็ดตรงทางเข้าบ้าน เพราะถือว่าเป็นการเหยียบศีรษะพระภูมิท่าน บริเวณที่ดินที่จะใช้ตั้งศาล ควรมีความกว้างยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ๔ x ๔ ยกพื้นให้เหนือพื้นดินประมาณ ๑ คืบ ให้มีพื้นที่พอเดินรอบศาลได้ การตั้งศาลพระภูมิ ตามทิศที่ถูกต้อง ก็จะเป็นมงคลเช่นกัน ที่นิยมมีดังนี้
ศาลพระภูมิ ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ ราชตระกูล หันหน้าศาลไปทางทิศเหนือ
ศาลพระภูมินา ทุ่งลาน หันหน้าศาลไปทางทิศตะวันตก
ศาลพระภูมิบ้านคหบดี เศรษฐี พ่อค้า หันหน้าไปทางทิศใต้
ศาลพระภูมิวัด ปูชนียวัตถุ สาธารณสถาน หันหน้าศาลไปทางทิศตะวันออก 

สำหรับคนธรรมดาสามัญในตำราไม่ได้กล่าวไว้ แต่ผู้ทำพิธีนิยมหันหน้าศาลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงใต้ 
ตัวศาลพระภูมิ นั้นไม่มีข้อกำหนด ว่าต้องเป็นสีใดหรือขนาดเท่าใด ส่วนใหญ่จะนิยมใช้สีประจำวันเกิดของเจ้าที่ ลักษณะและรูปแบบของศาลพระภูมิจะสะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการ ของบ้านเรือนและ อาคารสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ตามยุคสมัยและความเจริญของบ้านเมือง อย่างเช่น บ้านในสมัยโบราณ สร้างเป็นเรือนไม้ทรงไทย ศาลพระภูมิ ก็จะมีรูปแบบเป็นทรงไทยไม้หลังน้อย ๆ เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันเราจึงเห็นรูปแบบของศาลพระภูมิ ที่ดูแปลกตาตามยุค บางแห่งสร้างขึ้นจากการย่อส่วนของสถานที่จริง เพื่อให้เข้ากับอาคารที่มีอยู่ ส่วน "เจว็ด" (บางทีอาจเรียกว่า "ตระเว็ด" หรือ "เตว็ด" ก็มี) หรือ ตัวองค์พระภูมิ ถือเสมือนตัวแทน "เทวดา" หรือ "เจ้าที่" นาม "พระชัยมงคล" เดิมจะเป็นภาพเทวดา บนแผ่นไม้รูปวงรี มีฐานตั้ง ปัจจุบันเจว็ดประจำศาล มักจะใช้เป็นรูปหล่อทองเหลือง ดูเปล่งปลั่งคล้ายทอง ในหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือถุงเงิน เชื่อว่าท่านจะคอยประทานเงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของที่ เดิมหัตถ์ซ้ายของเทวดาจะถือสมุด (หนังสือ) ซึ่งคนในสมัยก่อนน่าจะตระหนักว่า ความรู้สำคัญกว่าเงินทอง เพราะหนังสือก่อให้เกิดความรู้สติปัญญา เพื่อใช้เลี้ยงชีพต่อไปภายภาคหน้า นอกจากนี้ที่ขาดไม่ได้ คือ ข้าบริวารรับใช้ของพระภูมิ ๑ คู่ เป็นตุ๊กตา มีทั้งปูนพลาสเตอร์ปั้นและพลาสติก       ตัวละครหุ่นปั้นชาย-หญิง ๑ คู่ ช้างปั้น ม้าปั้น ส่วนเครื่องประกอบของศาล ประกอบด้วย แจกันดอกไม้ ๑ คู่ กระถางธูป ๑ ใบ ผ้าเหลืองผูกเจว็ด ๑ ผืน ม่านประดับศาล ๔ ผืน ผ้าห้อยหน้าศาล ๑ ผืน เทียนเงินเทียนทองอย่างละ ๑ เล่ม ธูปเงินธูปทอง อย่างละ ๒ ดอก
           ในวันทำพิธีตั้งศาล เจ้าบ้านตระเตรียมเครื่องสักการะและเครื่องสังเวย พระภูมิชุดใหญ่ ตั้งบนโต๊ะ พิธีต่อจากนั้นผู้ทำพิธีหรือพราหมณ์ จะทำพิธีร่ายคาถาทำน้ำมนต์ ไหว้ครู อัญเชิญเทวดาให้มาสิงสถิตที่เจว็ด ก่อนนำเสาศาล มาฝังลงดินเพื่อให้ทำมาค้าขึ้น ก้าวหน้าร่ำรวย จะมีการนำน้ำมนต์ธรณีสาร  มารดบริเวณหลุม ช่วยไล่ภูติผีและสิ่งชั่วร้ายให้หมดไป จึงฝังสิ่งมงคลทั้งหลายลงไปด้วย เช่น ทองคำ เงิน เหล็ก แก้วมณี เป็นต้น รวมทั้งแผ่นทองคำ ซึ่งจารดวงชะตาของเจ้าของบ้าน ดวงชะตาพระภูมิ และยันต์จัตตุโร เจิมด้วยแป้งหอมน้ำมันหอม โรยทับตามด้วยดอกไม้ชื่อเป็นมงคล ปนกับเหรียญบาทเหรียญสตางค์ จากนั้นจึงโบกปูนปิดทับ ตั้งเสาศาลคร่อมรอยปูนนี้ ให้ความสูงของปลายเสาอยู่ระดับเพียงตา จึงยกระดับศาลพระภูมิขึ้นบนเสาไม่ให้ เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าเป็นสมัยก่อนจะนำเสาของศาลนั้นปักลงหลุมที่ทำพิธี หลังจากอัญเชิญเจว็ดมาสถิตที่ศาล โดยห้ามมิให้เอียงด้านใดด้านหนึ่ง พราหมณ์ผู้ทำพิธีจะมีการเจิมศาล และพรมน้ำอบที่ตัวศาล จากนั้นจึงจัด แจกันดอกไม้ กระถางธูป ข้ารับใช้พระภูมิ ละครรำ ช้างม้า เครื่องเซ่นบูชา พวงมาลัย ผ้าแพรผ้าสีผูกประดับที่เสา บูชาเครื่องเซ่น เป็นอันเสร็จพิธีตั้งศาล
           ส่วนการเซ่นสังเวยพระภูมิ หลังจากวันทำพิธีแล้ว นิยมทำกันในหลายโอกาสพร้อมกับงานมงคลอื่น ๆ เช่น งานขึ้นปีใหม่ งานทำบุญบ้าน งานแต่งงาน งานบวช บางคนอาจบูชาทุกวัน โดยการถวายนั้น ตามตำราพรหมชาติกล่าวว่า ต้องกล่าวชื่อพระภูมิ ซึ่งก็คือ "พระชัยมงคล" ให้ถูกต้อง ต้องสังเวยอาหารคาวหวาน ให้ถูกต้องในเวลาก่อนเที่ยงวัน และต้องออกชื่อคนใช้ของพระภูมิคนใดคนหนึ่ง (นายจันทิศ นายจันถี และจ่าสพพระเชิงเรือน) เป็นคนนำไปถวายบูชาพระภูมิอีกทอดหนึ่ง  เมื่อเสร็จจากการเซ่นบูชาแล้ว ควรลาเครื่องสังเวย หลังจากธูปหมดก้านแล้ว แบ่งอาหารคาวหวานเป็นที่เล็ก ๆ วางไว้โคนเสา เพื่อเซ่นแก่คนใช้ของพระภูมิและผีไม่มีญาติ จะว่าไปแล้ว ศาลพระภูมิ ถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ ที่ควรค่าแก่ การอนุรักษ์ อย่างน้อยคนรุ่นหลังจะได้สัมผัสความคิดความรู้สึกของคนสมัยก่อนจากสิ่งนี้ ว่ามีความละเอียดอ่อน ในจิตใจต่างกับคนรุ่นหลังอย่างไร
           บนความเจริญทางวัตถุนิยมของมนุษย์ พระภูมิเจ้าที่ ยังคงเป็นสิ่งหนึ่ง ที่ยังคงอยู่คู่กับความเชื่อของคนไทยอีก ตราบนานไม่ได้จางหายไป เช่น เดียวกับกลิ่นธูปและควันเทียนที่ ขจรขจายไปตามสายลม ยังมีความเชื่ออีกหลายหลาก ที่เกิดจากความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น หรือความเร้นลับในบางสิ่ง ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ ด้วยระบบเหตุผลหรือด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าบางครั้งความเชื่อในบางเรื่อง หรือบางสิ่ง บางอย่าง จะดูขัดกับความรู้สึกของเราบ้าง แต่อย่างน้อยวัตถุบางสิ่ง เช่น ศาลพระภูมิ หรือความเชื่อในบางสิ่ง ก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้การดำเนินชีวิตของเราเป็นไปตามครรลองธรรมอันดีงาม.

ขอขอบคุณที่มาจาก mordookrungsiam 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น