วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2558

4 วิธี เตรียมตัวพูดอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

4talk-success
ในบางครั้งที่เราจะสื่อสารกับคนกลุ่มใหญ่ๆ ที่ตั้งหน้าตั้งตาฟังเราอยู่ อาจดูไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้พวกเขาตั้งใจฟังเราได้ตลอดและได้รับสารทั้งหมดที่เราต้องการสื่อ บางทีพวกเขาอาจทำเหมือนเข้าใจ แต่สุดท้ายกลับแสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังเข้าใจผิด ทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเองว่าเป็นเพราะเราหรือเปล่าที่นำเสนอออกไปได้ไม่น่าสนใจพอ เพราะหัวใจสำคัญของการพูดนั้นไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องสักอย่างออกไป แต่เป็นการสื่อไปถึงใจของผู้ฟัง เพื่อให้เรื่องที่เราพูดไปนั้นส่งผลกระทบ และให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราคาดหวังไว้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านความเข้าใจหรือความรู้สึกก็ควรจะไปให้ถึงขั้นนั้น ซึ่งนี่คือ 4 วิธีที่จะช่วยให้เรานั้นสามารถสื่อตรงใจผู้ฟังได้มากขึ้น
  1. ทำการบ้านให้ดี
การพูดหรือเล่าเรื่องก็เหมือนการขายของ ถ้าหากลูกค้าไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายพวกเขาคงไม่ซื้อของจากเรา การพูดก็เหมือนกัน เราต้องรู้ก่อนว่ากลุ่มผู้ฟังของเราเป็นใครมีลักษณะแบบไหน เพื่อที่จะได้วางแผนการเล่าเรื่องและรูปแบบการเล่าให้เหมาะสม รวมถึงช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจและสนใจในสิ่งที่เราจะพูดได้มากขึ้น เช่น ถ้าเราต้องพูดให้กลุ่มวัยรุ่นฟัง ต้องปรับเปลี่ยนการเล่าเรื่องให้ดูทันสมัย หยิบยกเรื่องราวใกล้ตัวของวัยรุ่นมาเป็นตัวอย่างเพื่อดึงความสนใจให้ได้มากขึ้น
นอกจากการดูกลุ่มเป้าหมายแล้ว สิ่งถัดมาที่เราควรเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีก็คือข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ต้องมีการค้นคว้ามาอย่างละเอียดถูกต้อง ต้องมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หรือเล่าจากประสบการณ์ตรงก็ได้ ซึ่งการเตรียมพร้อมข้อมูลที่ว่านี้ ไม่เพียงแต่เตรียมเฉพาะในสิ่งที่เราพูดเท่านั้น เรายังต้องรู้ถึงรายละเอียดเบื้องลึก และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาด้วย เพื่อตั้งรับคำถามจากผู้ฟังในทุกๆ ข้อสงสัย ซึ่งจะทำให้สิ่งที่เราพูดนั้นมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก
หลังจากที่เตรียมข้อมูลเรียบร้อย การวางแผนลำดับการพูดและซ้อมพูดในเรื่องนั้นๆ อยู่บ่อยๆ จะช่วยให้เรามีความมั่นใจและรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นก่อนที่จะเจอกับสถานการณ์จริง และยิ่งถ้าได้ไปซ้อมตามสถานที่จริงล่วงหน้าแล้วจะยิ่งช่วยลดอาการตื่นเต้นได้มากกว่าเดิม เราจึงควรหมั่นฝึกซ้อมเพื่อที่จะได้ดำเนินตามแผนการพูดที่วางไว้ได้อย่างถูกต้อง
  1. สร้างความประทับใจแรก
ความประทับใจแรกถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ฟังจะใช้ตัดสินเราถึงความน่าสนใจและความน่าเชื่อถือในสิ่งที่เราจะพูดได้เลย ดังนั้นการวางบุคลิกภาพทั้งตอนก่อนขึ้นพูดและในขณะพูดนั้นสำคัญกว่าที่สิ่งเราจะพูดออกมาเสียอีก ดังนั้นตั้งสติให้ดี มีความสำรวมในทุกๆ อิริยาบถไม่ว่าจะเป็นจะเป็นการเดิน การยืนต่างๆ ให้ทำด้วยความมั่นใจ ยิ่งเมื่อได้ซ้อมมาแล้วหลายๆ ครั้ง ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเราในขณะพูดมากขึ้นไปอีก
เมื่อเราอยู่ในตำแหน่งที่จะเริ่มพูดแล้วอย่าเพิ่งเริ่มพูดในทันที แต่ควรใช้ความเงียบเพื่อแสดงถึงความพร้อมของพูด และให้ผู้ฟังได้เตรียมตัวพร้อมตั้งใจฟังด้วย ซึ่งวิธีนี้เป็นอีกวิธีที่ใช้ควบคุมบรรยากาศการฟังอย่างได้ผล
จากนั้นเริ่มต้นทักทายหรือใช้คำถามสั้นๆ ในการเปิดการสนทนาเช่น “วันนี้พวกคุณทุกคนเป็นยังไงกันบ้าง” ก็ถือเป็นวิธีการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและผ่อนคลายก่อนเริ่มต้นการพูดให้กับผู้ฟังได้อีกด้วย
  1. ดึงความสนใจมาให้ได้
การดึงความสนใจมาจากผู้ฟังสามารถทำได้หลายวิธี แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ฟังนั้นรอฟังเราอย่างตั้งใจนั้นก็คือการพูดเกริ่นนำในช่วงแรก เนื้อหาเหล่านี้จะเป็นตัวตัดสินเลยว่าผู้ฟังนั้นอยากจะฟังเราต่อหรือไม่ ถ้าพวกเขาเห็นว่าการเกริ่นนำไม่น่าสนใจพอหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็ยากที่จะทำให้ผู้ฟังสนใจติดตามต่อกับเรื่องราวที่เหลือ ดังนั้นการเกริ่นนำต้องทำให้น่าสนใจ อาจใช้วิธีการยกตัวอย่างใกล้ตัวผู้ฟังที่น่าสนใจเข้ามาช่วยก็ได้ เพื่อให้ผู้ฟังได้รับรู้ว่าเรื่องพวกนี้เกี่ยวข้องกับพวกเขา และน่าสนใจจริงๆ
การพูดแบ่งเนื้อหาแยกเป็นส่วนๆ หรือแบ่งเป็น Outline ก็ช่วยให้ผู้สนใจได้ดีกว่าการที่พูดรวมๆ ทั้งหมดทีเดียว เพราะผู้ฟังส่วนมากนั้นมีสมาธิสั้น ยิ่งถ้าเจอการอธิบายหรือบทบรรยายที่เน้นข้อมูลในปริมาณมากๆ ก็อาจทำให้สมาธิหลุดไปจนฟังต่อไม่รู้เรื่อง ทำให้ถ้าผู้ฟังเลิกสนใจในการพูดแบบรวมๆ ในทีเดียวนั้น จะทำให้พวกเขากลับมาฟังต่ออีกได้ยาก ต่างกับการที่แบ่งเป็นหัวข้อไว้ ซึ่งถ้าหากหลุดในข้อใดไป ผู้ฟังก็พร้อมที่จะเริ่มตั้งใจฟังในข้อใหม่อีกครั้งได้อยู่เสมอ โดยเราควรใช้สัญญาณบอกกับผู้ฟังก่อนเมื่อเรากำลังจะเปลี่ยนหัวข้อ เพื่อดึงความสนใจผู้ฟังกลับมาอีกครั้งใช้คำพูดอย่างเช่น “ต่อไปจะเป็นเรื่องของ…” หรือ “มาที่เรื่องถัดมากันเถอะ” สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนให้ผู้ฟังพร้อมฟังหัวข้อต่อไปอยู่เสมอ
รวมถึงรูปแบบการนำเสนอก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงความสนใจมาจากผู้ฟังได้มากขึ้น การที่พูดอย่างเดียวอาจไม่พอในการนำเสนอ เราจึงควรเพิ่มความแปลกใหม่เข้าไป โดยการให้ผู้ฟังเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อาจใช้การถาม-ตอบอยู่บ่อยๆ การให้จับกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิด หรือยกตัวอย่างแบบใช้บทบาทสมมติเพื่อให้น่าสนใจขึ้น รวมไปถึงการใช้เสียงให้เข้ากับรูปแบบการพูดด้วย เพราะการพูดด้วยน้ำเสียงโทนเดียวกันตลอดมีแต่จะสร้างความง่วงให้กับผู้ฟัง ลองฝึกฝนการปรับโทนเสียงในเครื่องอัดเสียงดูก่อนว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้น้ำเสียงของเรานั้นมีชีวิตชีวาและช่วยกระตุ้นความสนใจจากผู้ฟังมาอีกด้วย
และเมื่อใดที่เรามั่นใจว่าเราสามารถดึงความสนใจมาจากพวกเขาได้แล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งก็คือการใส่สาระสำคัญที่เราต้องการจะเน้นให้กับผู้ฟังลงไปได้เลย เพราะเมื่อถึงจุดที่ผู้ฟังตั้งใจฟังได้อย่างเต็มที่แล้ว จะส่งผลให้พวกเขาเก็บคำที่เราพูดเหล่านั้นไปคิดแม้ว่าเราจะพูดจบไปแล้วก็ตาม
  1. การสรุปเนื้อหา
เมื่อเราได้พูดทุกๆ หัวข้อจบไปแล้ว อย่าลืมทบทวนสาระสำคัญของสิ่งที่เราเล่าออกไปโดยจัดกลุ่มเป็นหัวข้อต่างๆ ในการจบการนำเสนอ และสัญญาณล่วงหน้าในการสรุปด้วย อย่างเช่น สุดท้ายแล้ว… จากนั้นค่อยไล่หัวข้อต่างๆ ที่สำคัญมากน้อยลงมาตามลำดับ และใช้คำพูดที่จะส่งผลกระทบให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกตามที่เราต้องการพวกเขารู้สึกแม้ว่าจะจบการฟังไปแล้ว เช่น การให้กำลังใจ ก็อาจตบท้ายด้วยคำพูดว่า พวกคุณก็สามารถทำได้ทุกคน

  • • •
มีเทคนิคมากมายที่จะทำให้คนฟังนั้นสนใจเราจริงๆ ให้ได้ลองนำไปปรับใช้ การซ้อมบ่อยๆ และวางแผนการพูดดีๆ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพูดให้คนฟังเลยก็ว่าได้ เพราะการซ้อมนั้นจะช่วยให้เรามีความมั่นใจในการพูดมากขึ้น และการวางแผนนั้นจะทำให้เราไม่หลุดปากเนื้อหาที่เราต้องการนำเสนอ หากมีการเตรียมความพร้อมแล้วเป็นอย่างดีแล้ว การพูดให้คนตั้งใจฟังนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น