ถ้ากล่าวถึง "ศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ" เชื่อว่าหลายท่านคงรู้จักเป็นอย่างดี ไม่เพียงเทวสถานแห่งนี้จะตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ใกล้โรงแรมเอราวัณที่ใหญ่โตโอ่อ่าแล้ว ยังเป็นที่เคารพสักการะทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ลงทุนข้ามแผ่นฟ้ามหาสมุทรมาแสดงความศรัทธาต่อ ท่านท้าวมหาพรหม ณ ที่แห่งนี้ ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาสักการะท่านท้าวมหาพรหมนับวันจะมีมากขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะความศรัทธาในบารมี ของท่านที่แผ่เมตตา ปกปักคุ้มครองให้ร่มเย็นเป็นสุข และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของผู้คนทั้งหลาย เมื่อยามที่ได้กราบไหว้บูชาแล้วทำให้รู้สึกสบายใจ ร่มเย็นเป็นสุข
ตามความเชื่อแบบพราหมณ์ "พระพรหม" ถือเป็นหนึ่งในสามของพระเป็นเจ้าที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เรียกรวมกันว่า "ตรีมูรติ" ได้แก่ พระอิศวร (ศิวะ) พระพรหม และพระวิษณุ (นารายณ์) ซึ่งถือกันว่าเป็นพระผู้สร้างสรรค์สิ่งทั้งปวง ได้แก่ โลก สวรรค์ และมนุษย์ ในขณะที่พระวิษณุ (นารายณ์) เป็นผู้รักษาดูแลและมีพระอิศวร (ศิวะ) เป็นผู้ทำลาย
พระพรหมที่ประดิษฐานไว้บริเวณ "ศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ" ลักษณะกายสีแดง สี่พักตร์ แปดกร ในแต่ละกรทรงอาวุธที่แตกต่างกันออกไป อาทิ แว่นแก้ว คฑา จักร สายประคำ ธารพระกรไม้เท้า ช้อน หม้อน้ำ คัมภีร์พระเวท ทรงหงส์เป็นพาหนะ และมี "พระสุรัสวดี" หรือ "พระสรัสวดี" เป็นพระมเหสี ที่สถิตของพระพรหมเรียกกันว่า "พรหมพฤนทา" อยู่ในพรหมโลก ว่ากันว่าอยู่เหนือชั้นสวรรค์ขึ้นไปอีก พระพรหมยังถูกแบ่ง ประเภทออกเป็นรูปพรหม และอรูปพรหม พรหมที่เรียกว่า "รูปพรหม" มีถึง ๑๖ ชั้นได้แก่ พรหมปาริชชาภูมิ พรหมปโรหิตาภูมิ มหาพรหมาภูมิ เป็นต้น ซึ่งพรหมทั้ง ๑๖ ชั้นนี้กล่าวกันว่าพระองค์ทรงประทับนิ่งไม่เคลื่อนไหวแต่อย่างใดเรียกว่านั่งเข้า "ฌาน" ส่วนชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปอีกเป็นชั้นของ "อรูปพรหม" เป็นพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่จิต มีทั้งหมด ๘ ชั้น อาทิ อากาสายัญจายตน วิญญาณัญจายตน อากิญตจัญญายตน และเนวสัญญานายตน พรหมทั้งสี่ชั้นนี้จัดเป็นพลังงานชั้นสูงที่มีความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง อำนาจแห่งองค์พรหม จัดเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่จนหลายคนกล่าวว่าชีวิตนั้นคือ "พรหมลิขิต" ดังนี้เองจึงทำให้คนหลายคนที่เชื่อว่าดวงชะตาความเป็นอยู่ของตัวเรานั้นมีความเกี่ยวเนื่องอยู่กับองคพรหม
ศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของ "ท่านท้าวมหาพรหม" ซึ่งอยู่ในรูปพรหมส่วนชั้นไหนนั้นต้องขออภัยเพราะยังไม่มีข้อมูล ส่วนศาลแห่งนี้ตั้งมาเป็นเวลานับ ๔๐ กว่าปี และพลังแห่งความศรัทธาของเหล่าสาธุชนที่แวะเวียนมานมัสการพระพรหมได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อการกุศลเป็นจำนวนมาก จึงได้เกิด "มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม" ขึ้นมา ซึ่ง "ศรีสล้าง สุขสมสถาน" กรรมการผู้จัดการและเลขานุการมูลนิธิฯ เผยว่า
"ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๖ ได้เริ่มก่อสร้างโรงแรมเอราวัณขึ้น และในปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้ให้ "พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์" ผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ ดูฤกษ์วันเปิดกิจการและ ได้ให้คำแนะนำว่าฤกษ์วางศิลาฤกษ์นั้นกระทำไม่ถูกต้อง จะต้องสร้างศาลพระพรหมและศาลพระภูมิไว้ ซึ่งองค์พระพรหมที่ประดิษฐานอยู่นี้ได้รับการออกแบบ และการปั้นตามแบบแผนของกรมศิลปากรจาก "จิตร พิมพ์โกวิท" ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ส่วนผู้ที่ออกแบบศาลคือ "เจือระวี ชมเสวี" และ "หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล เมื่อก่อนสถานที่แห่งนี้มีคนกราบไหว้ไม่มากนัก คงเป็นเพราะคนที่มากราบไหว้อาจจะขอให้ท่านช่วย แล้วเกิดประสบความสำเร็จเลยมีการเล่าไปแบบปากต่อปาก ไปทำให้ทุกวันนี้มีคนเข้ามาสักการะบูชากันมากขึ้น ทางโรงแรมเอราวัณเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ และได้ถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันบวงสรวงในทุกปี โดยการทำพิธีบวงสรวงจะมีพราหมณ์หลวงเป็นผู้ประกอบพิธีให้" กรรมการผู้จัดการมูลนิธิฯ กล่าวและว่า
"แต่เดิมได้ตั้งตู้รับบริจาคไว้ในศาลเพื่อนำเงินที่ได้รับจากการทำกุศลของผู้มีจิตศรัทธามาบูรณะเทวสถาน กระทั่งต่อมาจำนวนเงินบริจาคได้เพิ่มมากขึ้น จนผู้บริหารคิดว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปทำประโยชน์ โดยบริจาคให้ทางโรงพยาบาลเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์หรือช่วยสาธารณภัย น้ำท่วม เป็นต้น โดยทางมูลนิธิฯ จะไม่จัดทำรูปสักการะจำลอง วัตถุมงคลใด ๆ หรือทำการค้าไปในเชิงพาณิชย์เลย มีเพียงรูปถ่ายท่านท้าวมหาพรหมที่จัดทำเพื่อให้คนที่ เคารพนำไปสักการะบูชา และในบริเวณศาล ทางมูลนิธิฯ จะเป็นผู้ดูแลจัดการในการเช่าพื้นที่ให้ด้วย"
ภายในบริเวณ "ศาลท่านท้าวมหาพรหม" โดยรอบจะเห็นร้านค้าขายพวงมาลัย เครื่องสักการะบูชา ขันน้ำมนต์ใบโตและการแสดงละครรำที่จัดทุกวัน เพื่อเป็นการแก้บนของผู้ที่เคยมากราบไหว้ขอพร และในวันที่เข้าไปสัมภาษณ์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณ "ชูเกียรติ แก้วฟ้าเจริญ" ผู้จัดการดูแลคณะละครรำ ซึ่งเผยเกี่ยวกับการทำคณะละคร "จงกลนาฏศิลป์" ของเขาว่า "คณะละครจงกล แต่เดิมเป็นของคุณแม่ แต่ปัจจุบันผมเป็นคนดูแลจัดการ เริ่ม มาตั้งคณะละครรำที่ศาลท่านท้าวมหาพรหมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยทุกอย่างอยู่ในความดูแลของทางมูลนิธิฯ คณะละครรำที่เล่นที่นี่มี ๓ คณะด้วยกันสับเปลี่ยนกัน ได้แก่ คณะจงกลนาฏศิลป์ ดำรงนาฏศิลป์ และคณะละม่อม ในหนึ่งวันจะเข้า ๒ คณะ ซึ่งแต่ละคณะจะทำงาน ๒ วัน หยุด ๑ วัน ศาลท่านท้าวมหาพรหมนี้เริ่มเปิดให้เข้าสักการะตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ น. - ๒๒.๓๐ น. ทุกวัน ในการแสดงละครรำจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพว่าจะขอแก้บน หรือว่าจะรำถวาย เนื้อร้องก็จะไม่เหมือนกัน ถ้าแก้บนก็จะร้องแบบแก้บน ถ้าไม่ได้แก้บนก็ร้องอีกแบบหนึ่งในแบบถวาย เพลงที่รำจะสลับสับเปลี่ยนกันไป นอกจากเจ้าภาพจะขอเพลงเช่น กฤษดาอภินิหาร เทพบันเทิง ไกรลาสสำเริง ฟ้อนมาลัย ระบำดอกบัว เป็นต้น สมัยก่อนรำละคร รำชาตรีแก้บน ยังไม่มีการเอาเพลงพวกนี้เข้าบรรจุ เพลงพวกนี้เราเอามาจากกรมศิลปากร ภายหลังได้มีการดัดแปลงใส่เป็นเพลง ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามามักเป็นชาวต่างชาติเยอะประมาณ ๖๐ % สำหรับที่ศาลแห่งนี้แล้วจะมีคนเข้ามากราบไหว้ทุกวันไม่เคยขาดเลย เมื่อมาที่นี่ จะได้เห็นคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ชาติไหนมีหมดครับ" คุณชูเกียรติ ผู้จัดการคณะละครจงกลนาฏศิลป์กล่าว
นอกจากศาลท่านท้าวมหาพรหมแห่งนี้จะเป็นที่ประดิษฐานของ "พระพรหม" พระผู้มีความเมตตา กรุณา ต่อมนุษย์อย่างสูงส่งจนทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเล็ก ๆ อย่าง "ศาลท่านท้าวมหาพรหม" ได้ขจรขจายไปไกลถึงต่างบ้านต่างเมือง เนื่องจากความเคารพศรัทธาที่มีต่อพระพรหมเอาราวัณ และความเชื่อถือที่ว่า "เมื่อขอพรสิ่งใดไป จะได้พระนั้นสมความปรารถนา" ทำให้ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ไทย ฝรั่ง แขก ต่างพากันมานมัสการท่านอย่างเนืองแน่น เป็นประจำตลอดระยะเวลายาวนานหลายสิบปี ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การสมหวังในการขอพรจากพระพรหมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการเคารพศรัทธาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของท่าน แล้วความศรัทธาและความเชื่อมั่นนั้นทำให้ท่านพานพบ กับความสุข สบายใจ และไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อน สิ่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด......
บทความเรื่อง "ท่านท้าวมหาพรหมเอราวัณ" นี้ ได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจากนิตยสาร "บูรพาปาฏิหาริย์" ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒๒ ปักษ์แรก เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖
ขอขอบคุณ เนื้อหาจาก www.siamganesh.com รูปประกอบ จาก อินเตอร์เนท มา ณ ที่นี่ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น